บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

จักษุ 5 ประเภท


ในบทความ “บริบท (Context) ของการใช้ภาษา” ผมยกตัวอย่างที่มาของพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ว่า มาจากวักลิสูตร 

จากความหมายของวักกลิสูตรดังกล่าว สิ่งที่ต้องควรให้คำอธิบายอย่างมากก็คือ 5 ประเด็นเหล่านี้

1) ตาของพระวักกลิที่สามารถจะเห็น ธรรมและ เห็น กายของพระพุทธเจ้าด้วยเป็นอย่างไร

2) ธรรมในพระสูตรนี้คืออะไร และมีลักษณะเป็นอย่างไร

3) กายของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ใช้คำสรรพนาม เราเป็นกายอะไร รูปร่างหรือลักษณะเป็นอย่างไร

4) คำว่า เรานั้น ต้นฉบับภาษาบาลีหมายถึง เอกพจน์ หรือพหูพจน์?

5) ธรรมกับ กายของพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้หรือไกลกันอย่างไร เพราะ บุคคลจะเห็นของสองสิ่งพร้อมๆ กันนั้น ของดังกล่าวต้องอยู่ในทิศทางเดียวกัน

พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามีของสองสิ่ง ของสิ่งหนึ่งอยู่ข้างหน้า ของอีกสิ่งอยู่ข้างหลัง หรืออยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือขวามือก็ย่อมที่มองเห็นพร้อมกันไม่ได้

ผมได้อธิบายไปแล้วบ้างส่วนที่เกี่ยวกับ “1) ตาของพระวักกลิที่สามารถจะเห็น ธรรม และ เห็น กายของพระพุทธเจ้าด้วยเป็นอย่างไร” 

โดยสรุปว่า ตาที่เห็นต้องไม่ใช่ตาเนื้อหรือมังสจักษุ

เมื่อค้นพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก  ผมก็ต้องแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะ พระพุทธเจ้ากล่าวถึง "ตา" อื่น นอกจาก "ตาเนื้อ/มังสจักษุ" ไว้ในปฐมเทศนา หรือพระสูตรแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเลยทีเดียว

ความเป็นมาของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว และทรงตั้งใจที่จะโปรดสัตว์แล้ว พระองค์ก็ทรงเลือกปัญจวัคคีย์เป็นผู้รับคำสั่งสอนเป็นคณะแรก 

ทีแรกปัญจวัคคีย์ปฏิเสธ เพราะ ไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วจริงๆ  พระพุทธองค์ก็ทรงตอบว่า เมื่อก่อนพระองค์ไม่เคยตรัสว่า บรรลุสมเด็จพระโพธิญาณมาก่อนเลยใช่ไหม 

เมื่อพระองค์ตรัสขึ้นมา นั่นก็แสดงว่า พระองค์ตรัสรู้เป็นสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง  ปัญจวัคคีย์จึงเชื่อและรับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์

ข้อความในส่วนของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

[13] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้  อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1

การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่น ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้นที่ ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.
(พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค)

จากข้อความที่ขีดเส้นใต้ "ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด"  จะเห็นได้ว่า "ปัญญาอันยิ่ง" ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้  เมื่อตรัสรู้แล้ว  "ดวงตา" ก็เกิดขึ้น  และ "ญาณ" ก็เกิดขึ้น

ต่อจากข้อความในส่วนที่ยกไปข้างต้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อมาอีกว่า

[15] ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ ทุกขอริยสัจ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ

จากข้อความที่เป็นพุทธพจน์ของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา/วิชชา และแสงสว่าง ได้เกิดขึ้นกับพระองค์

เมื่อพิจารณาเฉพาะคำว่า "ดวงตา" จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า "ดวงตา" ของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นหลังจากการตรัสรู้นั้น หมายถึงตาอะไร และอยู่ที่ไหน

เมื่ออนุมานจากข้อความที่ยกมาข้างต้น ทำให้เราทราบว่า ในศาสนาพุทธต้องมี "ตา" มากกว่า 1 ประเภท 

ในความรู้พื้นฐานของพุทธเถรวาท  ร่างกาย/ขันธ์  5 ของแต่ละบุคคลนั้น จะมีตาเพียงคู่เดียวเท่านั้น 

การที่มีพุทธพจน์กล่าวว่า ยังมี "ตา" อีกอย่างน้อย 1 คู่ ก็อนุมานไปได้ว่า "ต้องมีกายมากกว่า 1 กายไปด้วย"

เมื่อพิจารณาเฉพาะปฐมเทศนา/ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตา/จักษุก็มีอย่างน้อย  2 ประเภท แล้ว  จึงเป็นอันที่น่าตั้งคำถามว่า

ตา/จักษุในพระไตรปิฎกมีเพียง  2 ประเภทเท่านี้ หรือจะมีมากกว่า  2 ประเภท และปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มใดบ้าง

จักษุ 5 ประเภท

ในพระไตรปิฎกนั้น กล่าวถึงตา/จักษุไว้ถึง  5 ประเภท  โดยพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม  21 ขุททกนิกาย มหานิทเทส ดังนี้

[50] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เราย่อมเห็นหมู่สัตว์นี้ไปในตัณหา ในภพทั้งหลาย ดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายที่เลว ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมร่ำไรใกล้ปากมัจจุ.  สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา

[51] คำว่า เราย่อมเห็น ... ดิ้นรนอยู่ในโลก มีความว่า

คำว่า ย่อมเห็น คือ ย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู ด้วย มังสจักษุบ้าง ทิพยจักษุบ้าง ปัญญาจักษุบ้าง พุทธจักษุบ้าง สมันตจักษุบ้าง.

คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก  ธาตุโลก อายตนโลก.

คำว่า ดิ้นรนอยู่ คือ เรา ย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู [ซึ่งหมู่สัตว์นี้] ดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว เอนเอียง กระสับกระส่ายไปมา

จากพระสูตรดังกล่าวจะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า "ย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู" เป็นการเห็น/การดูอย่างพินิจพิเคราะห์

เรียกว่า ครอบคลุมเกี่ยวกับการดู/การเห็นทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการเห็นอย่างไม่ตั้งใจ

ด้วยจักษุ 5 ประเภทนี้คือ 1) มังสจักษุ 2) ทิพยจักษุ 3) ปัญญาจักษุ 4) พุทธจักษุ และ 5) สมันตจักษุ

การที่พระองค์ต้องทรงใช้ตา/จักษุทั้ง  5 ประเภทก็เพราะว่า พระองค์ทรงตรวจดูไปหลายภพ กล่าวคือ ตั้งแต่ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก  ธาตุโลก จนถึง อายตนโลก

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ตาของพระวักกลิที่จะเห็นทั้งธรรมและพระพุทธเจ้าด้วยนั้น จะเป็นตาเนื้อ/มังสจักษุไม่ได้  จะต้องเห็นด้วยตาภายในคือ อาจจะเป็น ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ หรือสมันตจักษุก็ได้

อย่างไรก็ดี พุทธวิชาการบางท่านกล่าวว่า พุทธจักษุกับสมันตจักษุนั้นสงวนไว้สำหรับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ ดังนั้นตาของพระวักกลิที่จะเห็น "ธรรม" ได้ก็คือ ทิพยจักษุ หรือปัญญาจักษุ เท่านั้น

จากที่เขียนมาทั้งหมดข้างต้น พุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" นั้น  สิ่งที่เป็นกรรมของกริยา "เห็น" มี 2 ประการคือ "ธรรม" กับ "เรา"

ขออธิบายแทรกตรงนี้ก่อนว่า โครงสร้างประโยคดังได้กล่าวมานั้น เป็นดังนี้คือ

ประธาน + กริยา + กรรม

จากความหมายของประโยคดังกล่าวนั้น  ถ้ากล่าวโดยทั่วๆ ไป  "ธรรม" กับ "เรา" จะต้องอยู่ใกล้กันมาก

ถ้าเป็นตา/จักษุธรรมดา ก็ต้องอยู่ในขอบเขตของสายตาในการมองครั้งเดียว แต่ถ้าเป็นการ "เห็น" ด้วยตา/จักษุอื่นๆ ก็ต้องวิเคราะห์ไปตามบริบท (Context) ของข้อความในช่วงนั้นๆ

เมื่อกล่าวถึงเฉพาะคำว่า "ธรรม"  คำว่า "ธรรม"นี้มีความหมายหลากหลายมากทั้งอย่างกว้างที่สุดก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในอนัตตจักรวาล ทั้งสังขตธาตุและอสังขตธาตุ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรืออาจจะเป็นขันธ์ 5 นิวรณ์ 5 อย่างใดอย่างหนึ่งก็ใด

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถกล่าวว่า เป็น "ธรรม" ได้ทั้งสิ้น

แต่อย่างไรก็ดี คำว่า "ธรรม" ในประโยคดังกล่าว จะต้องไม่ใช่ธรรมชาติหรือธรรมะที่พบเห็นกันได้ง่ายๆ ด้วยตา/จักษุธรรมดา 

จะต้องเป็น "ธรรม" ที่สำคัญมาก  เพราะ เมื่อเห็นธรรมดังกล่าวนี้แล้ว จะต้องเห็นพระพุทธเจ้าได้ด้วย  แล้ว ธรรมดังกล่าวนั้น มีลักษณะเป็นเช่นไร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น