บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ลักษณะของธรรมะ


ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้อธิบายพุทธพจน์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ว่า มาจากวักลิสูตร  จากความหมายของวักกลิสูตรดังกล่าว สิ่งที่ต้องควรให้คำอธิบายอย่างมากก็คือ  5 ประเด็นเหล่านี้

1) ตาของพระวักกลิที่สามารถจะเห็น ธรรมและ เห็น กายของพระพุทธเจ้าด้วยเป็นอย่างไร

2) ธรรมในพระสูตรนี้คืออะไร และมีลักษณะเป็นอย่างไร

3) กายของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ใช้คำสรรพนาม เราเป็นกายอะไร รูปร่างหรือลักษณะเป็นอย่างไร

4) คำว่า เรานั้น ต้นฉบับภาษาบาลีหมายถึง เอกพจน์ หรือพหูพจน์?

5) ธรรมกับ กายของพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้หรือไกลกันอย่างไร เพราะ บุคคลจะเห็นของสองสิ่งพร้อมๆ กันนั้น ของดังกล่าวต้องอยู่ในทิศทางเดียวกัน

พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามีของสองสิ่ง ของสิ่งหนึ่งอยู่ข้างหน้า ของอีกสิ่งอยู่ข้างหลัง หรืออยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือขวามือก็ย่อมที่มองเห็นพร้อมกันไม่ได้

ผมได้อธิบายข้อที่  1 ไปแล้ว ในบทความนี้ จะอธิบายข้อที่ 2 ที่ว่า “2) ธรรมในพระสูตรนี้คืออะไร และมีลักษณะเป็นอย่างไร”

จากประวัติการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อทรงสอนปัจจวัคคีย์ด้วยธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ปัจจวัคคีย์ทั้ง  5 คนยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในทันที

แต่มี ดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นและขอบวชเป็นพระภิกษุ

จึงน่าจะให้ความสนใจว่า  ธรรมะที่ปัจจวัคคีย์เห็นนั้นเป็นอย่างไร มีรูปร่างลักษณะอย่างไร

การมีดวงตาเห็นธรรมของปัจจวัคคีย์นั้น ไม่ได้เกิดพร้อมกัน แต่เกิดเรียงกันเป็นลำดับไปดังนี้  คนแรกที่เห็นคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ

หลังจากนั้นมาพระพุทธเจ้าก็สอน พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งก็จะเห็นธรรมเป็นคู่ๆ 

คู่สุดท้ายคือพระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งข้อความของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกล่าวไว้ดังนี้คือ

วันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้น แก่ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.

ท่านทั้งสองได้ เห็นธรรม แล้ว ได้ บรรลุธรรม แล้ว ได้ รู้ธรรมแจ่มแจ้ง แล้ว มีธรรมอันหยั่งลง แล้ว

ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา

ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสอง พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า

ข้อความที่สำคัญที่ว่า ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้น

ขอให้ผู้อ่านพิจารณาข้อความ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินนั้นควรขยายคำว่า “ดวงตา” หรือขยายคำว่า “ธรรม

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจ ดังนี้

1) ปัจจวัคคีย์มีดวงตา [ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน] เห็นธรรมะ
2) ปัจจวัคคีย์มีดวงตาเห็นธรรมะ [ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน]

พิจารณาตามหลักการของภาษาไทยที่ว่า  คำขยายนั้น ควรจะอยู่ติดกับคำนามที่มันขยาย ข้อความที่  2 น่าจะถูกต้อง

แสดงว่า ธรรมที่ปัจจวัคคีย์เห็นนั้น ไม่มีฝุ่นเข้าไปจับ ไม่มีร่องรอยหรือมลทิน คำขยายเช่นนี้ มักจะใช้อธิบายความใสของแก้ว 

ดังนั้น  ธรรมะในธัมมจักกัปปวัตนสูตรจึงน่าจะต้องมีลักษณะใสคล้ายแก้ว

หลักฐานสนับสนุนว่าธรรมะมีลักษณะเป็นดวง

1) วิชาธรรมกาย 

วิชาธรรมกายมีหลักฐานเป็นหลักฐาน และมีผู้ปฏิบัติธรรมตามได้ว่า ธรรมะทุกหัวข้อ ในส่วนละเอียดสุดแล้ว มีลักษณะเป็น “ดวงกลม” ทั้งสิ้น

2) พระอภิธรรม

พระอภิธรรมซึ่งศึกษาเรื่อง “จิต” ก็บอกว่า จิตทั้งหลายมีลักษณะเป็น “ดวงกลม” ทั้งสิ้น  ยกตัวอย่างดังนี้

จิต นั้นเมื่อ จำแนกเป็นประเภทตามอาการที่รู้นั้นก็ได้เป็น  ๔  ประเภท คือ

๑. กามาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่ข้องอยู่ ที่ติดอยู่ ที่หลงอยู่ ที่เจืออยู่ในกามตัณหา หรือเป็นจิตที่ส่วนมากท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ จิตประเภทนี้เรียกสั้นๆ ว่า กามจิต มีจำนวน ๕๔ ดวง

๒. รูปาวจรจิต เป็นจิตที่ถึงซึ่งรูปฌาณ พอใจที่จะเป็นรูปพรหม หรือเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ จิตประเภทนี้มีจำนวน ๑๕ ดวง

๓. อรูปาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่เข้าถึงซึ่งอรูปฌาณ พอใจที่จะเป็นอรูปพรหมหรือ เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภูมิ จิตประเภทนี้มีจำนวน ๑๒ ดวง

๔. โลกุตตรจิต เป็นจิตประเภทที่กำลังพ้นและพ้นแล้วจากโลกทั้ง ๓ คือ พ้นจาก กามโลก (กามภูมิ), จากรูปโลก(รูปภูมิ) และจากอรูปโลก (อรูปภูมิ) จิตประเภทนี้มีจำนวน ๘ ดวง





ข้อมูลและรูปภาพนำมาจากบล็อกของผู้ใช้ชื่อว่า “ชาวมหาวิหาร


3) โอวาทปาฏิโมกข์
สำหรับหลักฐานอีกแห่งหนึ่งที่สอดคล้องกับข้อความข้างบนก็คือ โอวาทปาฏิโมกข์ที่กล่าวว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ    การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา    การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ    การทำจิตให้สว่างใส
เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ     นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

โดยสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ข้อความจากวักกลิสูตรแสดงให้เห็นว่า  ธรรมในพระสูตรดังกล่าว มีลักษณะเป็นดวงแก้วกลมใส ปราศจากฝุ่นละอองหรือรอยขีดข่วน

และจะต้องเห็นด้วยทิพยจักษุหรือปัญญาจักษุ ในกรณีที่เป็นพุทธศาสนิกชน  ยังเหลือแต่คำว่า เรา หรือพระพุทธเจ้า

คำว่า เรา ดังกล่าวนั้น น่าจะรวมถึง "กาย" กับ "ใจ" ของพระพุทธเจ้าด้วยหรือไม่  หรือจะเห็นแต่เพียงกายอย่างเดียว

และกายของพระองค์ที่พระวักกลิจะเห็นนั้น ต้องไม่ใช่พระวรกายเนื้อของพระพุทธองค์ ซึ่งพระวักกลิเห็นอยู่แล้วด้วยตา/จักษุธรรมดาอยู่แล้วในขณะนั้น

จึงเป็นอันที่น่าสงสัยหรือน่าตั้งคำถามว่า เรา ในพุทธพจน์ดังกล่าว น่าจะเป็นกายใดของพระพุทธองค์?  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น