บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

การเห็นของวิชาธรรมกาย


ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้อธิบายพุทธพจน์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ว่า มาจากวักลิสูตร  จากความหมายของวักกลิสูตรดังกล่าว สิ่งที่ต้องควรให้คำอธิบายอย่างมากก็คือ 5 ประเด็นเหล่านี้

  1. ตาของพระวักกลิที่สามารถจะเห็น ธรรมและ เห็น กายของพระพุทธเจ้าด้วยเป็นอย่างไร
  2. ธรรมในพระสูตรนี้คืออะไร และมีลักษณะเป็นอย่างไร
  3. กายของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ใช้คำสรรพนาม เราเป็นกายอะไร รูปร่างหรือลักษณะเป็นอย่างไร
  4. คำว่า เรานั้น ต้นฉบับภาษาบาลีหมายถึง เอกพจน์ หรือพหูพจน์?
  5. ธรรมกับ กายของพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้หรือไกลกันอย่างไร เพราะ บุคคลจะเห็นของสองสิ่งพร้อมๆ กันนั้น ของดังกล่าวต้องอยู่ในทิศทางเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามีของสองสิ่ง ของสิ่งหนึ่งอยู่ข้างหน้า ของอีกสิ่งอยู่ข้างหลัง หรืออยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือขวามือก็ย่อมที่มองเห็นพร้อมกันไม่ได้
ผมได้อธิบายข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 ไปแล้ว ในบทความนี้ กำลังอธิบายในหัวข้อที่ 3 ที่ว่า “3) กายของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ใช้คำสรรพนาม เราเป็นกายอะไร รูปร่างหรือลักษณะเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นผู้เขียนขอแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของสายวิชาธรรมกายก่อน จากการที่มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งกล่าวว่า  การปฏิบัติธรรมของสายวิชชาธรรมกายเป็นเพียงสมถะกรรมฐานเท่านั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะ ไม่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิชาธรรมกายอย่างให้ครบถ้วน

สายวิชาธรรมกายนั้น เป็นวิชาที่รวมทั้งสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเข้าไปในตัวอยู่แล้ว ถ้าได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิชาธรรมกายอย่างครบถ้วนแล้ว ถึงจะ "รู้" และ "เข้าใจ" 

ที่ต้องกล่าวว่า “สายวิชาธรรมกายเป็นวิชาที่รวมทั้งสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเข้าไปในตัวอยู่แล้ว” ก็เพราะว่า สายวิชาธรรมกายมีวิชาที่สูงกว่าสมถะกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน

สมถะกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานเป็นพื้นฐานของการบรรลุพระอรหันต์  ไม่ใช่ว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้

หลักฐานสนับสนุนอีกประการหนึ่งก็คือ คำว่า "วิปัสสนา" นั้นแปลตามตัวอักษรว่า "เห็นแจ้ง" กล่าวคือ วิ แปลว่า แจ้ง  ปัสสนา แปลว่า เห็น 

ดังนั้น สายปฏิบัติธรรมใดๆ ก็ตาม  ที่ไม่อธิบายว่า เห็น อย่างไร ก็ย่อมจะไม่ใช่วิปัสสนา  หรือยังไม่อธิบายไม่ถูกต้อง

หลักฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด คือ มหาสติปัฏฐานสูตร ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ สติปัฏฐาน 4 ประการ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้

  • พิจารณา เห็น กายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
  • พิจารณา เห็น เวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
  • พิจารณา เห็น จิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
  • พิจารณา เห็น ธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1ฯ
การเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมนั้น  แสดงว่า กายต้องมีการซ้อนกันอยู่ เวทนาก็ต้องมีการซ้อนกันอยู่ จิตก็ต้องมีการซ้อนกันอยู่ และธรรมก็ต้องมีการซ้อนกันอยู่ ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม ต้อง เห็น ได้  และ เห็น ด้วยว่า ซ้อนกันอย่างไร

มหาสติปัฎฐาน 4 นั้น  ถ้าอธิบายตามหลักภาษาศาสตร์แล้ว สายปฏิบัติธรรมที่อธิบายได้ชัดเจนที่สุดก็มีสายวิชาธรรมกายสายเดียวเท่านั้น 

โปรดไปหาอ่านหนังสือที่เขียนโดยคุณลุงการุณย์ บุญมานุชให้ครบทุกเล่ม  จะเข้าใจในประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างแน่นอน

มีหนังสือบางเล่มอยู่ในบล็อกด้านล่างนี้


การปฏิบัติธรรมของสายวิชาธรรมกายนั้น  เมื่อ เห็น จำ คิด รู้ หรือใจไปหยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อย่างถูกส่วนแล้ว ก็จะ เห็น ดวงธรรม หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค

เมื่อเห็นดวงธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมต้อง "เดินวิชา" ไปที่ศูนย์กลางของดวงธรรมต่อไปก็จะพบกายอีก 17 กาย รวมทั้งกายเนื้อด้วยก็เป็น 18 กาย  ดังนี้

1) กายมนุษย์หยาบ/กายเนื้อ 
2) กายมนุษย์ละเอียด
3) กายทิพย์หยาบ
4) กายทิพย์ละเอียด
5) กายพรหมหยาบ
6) กายพรหมละเอียด
7) กายอรูปพรหมหยาบ
8) กายอรูปพรหมละเอียด
9) กายธรรมโคตรภูหยาบ
10) กายธรรมโคตรภูละเอียด
11) กายธรรมพระโสดาหยาบ
12) กายธรรมพระโสดาภูละเอียด
13) กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ
14) กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด
15) กายธรรมพระอนาคามีหยาบ
16) กายธรรมพระอนาคามีละเอียด
17) กายธรรมพระอรหัตหยาบ
18) กายธรรมพระอรหัตละเอียด

ขั้นตอนตั้งแต่กายมนุษย์หยาบ-กายอรูปพรหมละเอียดเป็นขั้นของสมถะ ส่วนตั้งแต่กายธรรมพระโสดาหยาบ-กายธรรมพระอรหัตละเอียดเป็นขั้นของวิปัสสนา

นอกจากดวงธรรม/ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน/ดวงปฐมมรรคแล้ว ธรรมอื่นๆ เช่น อริยสัจ 4 หรือปฏิจสมุทปบาทจะมีลักษณะเป็นดวงทั้งหมด 

ซึ่งผู้อ่านจะสามารถหาอ่านได้จากหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ขยายความโดยคุณลุงการุณย์ บุญมานุชได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า คำสอนของสายวิชชาธรรมกายถูกต้องตรงกับพระไตรปิฎกที่สุด พระนอกจากจากจะมีข้อความที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แล้ว ก็ยังมีข้อความที่ว่า "

อนึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้.

ก็อุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. (พระไตรปิฎกเล่มที่ 12 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)

ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ใดเห็นธรรมแล้ว ก็ต้องสามารถเห็นพระพุทธเจ้าได้ และต้องสามารถเห็นปฏิจจสมุปบาทได้  ซึ่งสายวิชาธรรมกายมีคำอธิบายไว้อย่างครบถ้วนถูกต้อง

ขออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17 ขุททกนิกายขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หรือมงคลสูตรข้อ 38 ได้กล่าวว่า "อริยสจฺจานทสฺสนํ" ซึ่งแปลว่าเห็นอริยสัจ

ซึ่งก็หมายถึงว่า อริยสัจนั้น ต้องเห็นได้  สำหรับอริยสัจจะเห็นได้อย่างไร ก็มีคำอธิบายไว้ในหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาธรรมกายเช่นเดียวกัน….



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น